Monatea - The taste and visibility



M O N A T E A




การชมศิลปะมักรู้จักกันดีผ่านการดูด้วยสายตา ทั้งการมองภาพเบื้องหน้า และการอ่าน  มากขึ้นไปหน่อยก็อาจเป็นทั้งการฟัง และการสัมผัสด้วยร่างกาย  แต่คงไม่บ่อยนักที่มนุษย์จะชื่นชมและรับรู้งานศิลปะผ่าน 'การรับรส' เฉกเช่นการลิ้มรสอาหาร

เคยมีใครคนหนึ่งพูดไว้ว่า  "ในอดีต ศิลปะเคยรับใช้ชนชั้นสูงมาก่อน"  และด้วยความที่ศิลปะก่อกำเนิดอย่างเบ่งบานในฝั่งยุโรป 'เธอ' จึงได้เลือกล้อเลียนคำพูดเหล่านั้นในยุคสมัยนี้...






ภาพจำของชนชั้นสูงในยุโปรสมัยก่อนนั้นมักเป็นภาพของชายหญิงสำอางผู้มีเวลาว่าง 'นั่งจิบน้ำชา' ยามบ่าย  ต่างจากชนชั้นกลางและชนชั้นล่างที่ต้องทำไร่ ทำการเกษตรและไม่อาจฟุ่มเฟือย  ด้วยความแตกต่างนี้เธอจึงได้นำ 'ชา' เข้ามาเป็นจุดเด่นของงานเพื่อล้อเลียนกับประโยคดังกล่าว

ใบชาถือกำเนิดจากเอเชีย  และที่รู้จักกันดีที่สุดเห็นจะเป็นประเทศจีนที่มีวัฒนธรรมการดื่มชามายาวนานและโด่งดัง  เธอนำเอาจุดนี้มาสืบหาต่อเกี่ยวกับการเข้ามาของใบชาในยุโรปและมันก็กลายเป็นความหมายแฝงในเรื่องของการเข้ามาทางอารยธรรมและค่านิยมในประวัติศาสตร์  ก่อนที่ภาพลักษณ์ของชิ้นงานจะถูกล้อเลียนด้วยภาพวาดอันโด่งดังอย่าง Mona Lisa ของ Leonardo Da Vinci ที่ถือว่าเป็นผลงานที่ถูกกล่าวขานมากที่สุดในโลก

เธอเสนอที่จะแทนที่สีต่างๆด้วยใบชาเอเชียหลากหลายชนิด  แทรกด้วยสมุนไพรไทยเพื่อสร้างกลิ่นและรสชาติที่แตกต่างจากชาทั่วไปให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

แม้เป้าหมายจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงมิติที่แตกต่างกันของการดูและการลิ้มรส  ทว่าด้วยความที่เธอชื่นชอบในรสชาติของชา และใส่ใจกับการเบลนด์ชาเป็นงานอดิเรก เธอจึงให้ความสำคัญกับการเลือกใบชามาใช้เป็นส่วนประกอบของงาน  ที่นอกจากจะต้องมีเฉดสีที่สามารถใช้ล้อเลียนภาพเขียนได้แล้วยังต้องมีรสชาติและกลิ่นที่โดดเด่นและกลมกล่อมอีกด้วย







ความต้องการของเธอคือการให้ผู้ชมได้ยืนดื่มด่ำกับภาพล้อเลียนนั้นด้วยสายตา  ชิ้นงานจะสะท้อนกับภาพจำของภาพเขียนอันเลื่องลือที่เคยเห็นผ่านตามาไม่มากก็น้อยนั้น  ก่อนจะให้ขยับเข้าใกล้ภาพเพื่อสูดกลิ่นชาและสมุนไพรต่างๆบนภาพ  และจบลงด้วยการที่ให้ผู้ชมได้ลิ้มรส 'น้ำชา' ที่ถูกเบลนด์ขึ้นใหม่อย่างเฉพาะตัว  เพื่อให้เห็นถึงความงามที่แตกต่างกันจากความคุ้นชินทั้งทางสายตา และการรับรส





Monatea, installation and parody art, 2019



ท้ายที่สุดแม้ชิ้นงานจะไม่ได้ออกมาสมบูรณ์แบบ  แต่สาสน์ที่เธอต้องการสร้างก็ได้เสร็จสมบูรณ์ ณ ที่แห่งนั้นแล้ว...

ภาพลักษณ์ของงานศิลปะชิ้นเอกที่ถูกล้อเลียนขึ้นมาใหม่ด้วยใบชานับร้อย  กลิ่นที่โชยออกมาจากภาพนั้นแตกต่างกันออกไปในแต่ละจุด  เช่นเดียวกับรสชาติของน้ำชาที่เกิดขึ้นจากการจัดอัตราส่วนในการเบลนด์ชาแบบเดียวกับปริมาณชาแต่ละชนิดบนภาพ  และแทรกด้วยความนัยของอดีตและประวัติศาสตร์อันห่างไกล  วัฒนธรรม  ขนบธรรมเนียมและประเพณี

ในการชมงานชิ้นนี้ผู้ชมจะได้จดจำความรู้สึกที่แตกต่างกันระหว่าง 'ความงามผ่านการรับรู้ด้วยสายตา' และ 'ความงามผ่านการรับรู้ด้วยลิ้น'  ที่จะสร้างภาพจำใหม่ให้แก่พวกเขา



"เคยคิดไหมว่า...ถ้าเราลิ้มรสงานศิลปะได้  รสชาติของมันจะเหมือนกับที่ตาเราเห็นหรือไม่  รสชาติของประวัติศาสตร์จะเหมือนกับที่เรารับรู้หรือไม่"




END



ความคิดเห็น